แกะรอยเส้นทาง Agritech ของผู้ผลิตปุ๋ย ที่เริ่มจากมันเต๋า สู่ Uber for Tractor

Last updated: 19 ก.ย. 2565  |  732 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แกะรอยเส้นทาง Agritech ของผู้ผลิตปุ๋ย ที่เริ่มจากมันเต๋า สู่ Uber for Tractor

นวัตกรรมมันเต๋าติดปีกเกษตรกร

วงจร pain point ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ไร้อำนาจการต่อรองในยามที่บรรทุกผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดไปขาย ด้วยเพราะมันสำปะหลังสดมีอายุเก็บรักษาสั้นที่อย่างมากได้เพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่รีบขายแล้วปล่อยไว้ก็เน่าเสีย ดังนั้นแม้จะไม่ได้ราคาที่ต้องการก็จำเป็นต้องยอมขาย 

ขณะที่แม้จะทำเป็น “มันเส้น” (Chip) ส่งลานมันเพื่อตากแดดให้แห้ง แล้วค่อยรอไว้ขายยามราคาขึ้น ก็จะติดปัญหาใช้เวลาตากนานถึง 4-5 วัน และต้องกังวลเรื่องฝนตก จึงไม่สามารถตากมันได้ตลอดเวลาทุกฤดูกาล รวมถึงตัวเกษตรกรเองต้องการเงินสดไม่สามารถรอเงินจากการทำมันเส้นตากลานได้ 

ด้วยความเชื่อที่ว่าต้องพัฒนาให้สินค้าการเกษตรมีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น ควบคู่กับที่ต้องต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมได้ จึงจะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นวงจรดังกล่าวได้ 

ทำให้คู่สามีภรรยาผู้ผันตัวจากวิชาชีพพนักงานประจำและแม่พิมพ์ของชาติ มาริเริ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก่อนจะมาหาโอกาสใหม่ในธุรกิจค้าปุ๋ยอินทรีย์แบรนด์ “สิงห์ยิ้ม” ภายใต้บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัดที่จังหวัดระยอง เกิดแนวคิดว่าจะต้องหาทางออกด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยให้ pain point ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังคลี่คลายลง 

จนเมื่อปี 2554 กฤชจึงเริ่มนำวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนผสมผสานกับประสบการณ์ในฐานะวิศวกรเครื่องในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนนี้ มาประยุกต์ใช้เพื่อวิจัยและพัฒนา จนนำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องจักรแปรรูปมันเส้นที่กว่าจะประสบผลสำเร็จได้นั้นก็ผ่านการลองผิดลองถูกแล้วล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงทุ่มเงินทุนไปหลายสิบล้านบาท กระทั่งสามารถผลิตมันเส้นสะอาดชนิดเต๋า (เรียกย่อ ๆ ว่ามันเต๋า) ได้ในที่สุดเมื่อปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้มันเต๋าที่บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร ฯ พัฒนาขึ้นนั้นมีแก่นหลักสำคัญอยู่ตรงนวัตกรรมเครื่องจักรอบมันสำปะหลังที่มีกระบวนการให้มันสำปะหลังสด คลายความชื้นออกมาในปริมาณเหมาะสม พร้อมกับคงโครงสร้างของมันสำปะหลังไว้ได้เหมือนเดิม ทำให้ยืดอายุเก็บรักษาได้นานนับปี และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ ต่อไปได้เหมาะสม เช่น สารให้ความหวาน ไซรัป ผงชูรส กรดมะนาว อาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ ฯลฯ  และอุตสาหกรรมเพื่อโลกอนาคต เช่น ส่วนผสมในไบโอพลาสติก เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด และเครื่องสำอาง เป็นต้น

สำหรับกระบวนการผลิตนั้น เริ่มตั้งแต่ นำมันสำปะหลังสดมาล้างขัดผิวนอกออก จากนั้นจึงนำมันสำปะหลังมาหั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ  คล้าย “ลูกเต๋า” ซึ่งการหั่นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมนั้น มีประโยชน์ช่วยให้ผิวสัมผัสแต่ละก้อนไม่ติดแนบชิดติดกัน เวลานำไปเข้าตู้อบ จะไม่ติดกันเป็นก้อนเดียว ซึ่งขั้นตอนการอบแห้ง ต้องทำถึง 3 ครั้ง สุดท้ายจะได้ออกมาเป็นมันสำปะหลังรูปทรงสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “มันเต๋า” สีขาวสะอาด โดยตลอดทุกขั้นตอนเครื่องจักรทำงานอัตโนมัติต่อเนื่อง ใช้เวลารวมเพียง 90 นาที 

“จุดที่ทำให้สำเร็จเกิดจากความลงตัวของสองอย่าง หนึ่ง คือ ตัวมันสำปะหลัง ที่ต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ที่ 25-30% ซึ่งเกิดขึ้นได้จากแนวทางด้าน Agritech ที่มาช่วยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างที่สอง คือ เครื่องจักร ที่ผ่านสร้างจากกระบวนการทางวิศวกรรมในการถ่ายเทความร้อนให้มันสามารถคายความชื้นออกมา”

โดยกฤชเปิดเผยว่าเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเป็นอันดับแรกของประเทศไทยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร และนำมาใช้จริงเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานแรกอยู่ที่อำเภอแปลงยาว ฉะเชิงเทรา

โดยมันเต๋ามีคุณสมบัติเด่น ตรงค่าแป้งสูงถึง 70-75% มากกว่ามันลาน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 65-67% ส่วนความชื้นอยู่ระดับ 13-15% ต่ำกว่ามันลาน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15-17% และมีการปนเปื้อนเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น ในขณะที่มันลานอยู่ที่ประมาณ 3-5% ที่สำคัญ มันเต๋าเก็บรักษาได้นานนับปี และผลิตได้ตลอดทั้งปี 

ก้าวต่อไป ในเชิงธุรกิจที่วางไว้ บริษัท สิงห์ยิ้มฯ จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอบแห้งครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะนี้กำลังเชิญชวนเกษตรกรมาเป็นเครือข่าย (Contract Farming) ทำหน้าที่เป็นผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่รวมไปถึง 300,000 ไร่ ภายในปีนี้ ด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ตามคำแนะนำของบริษัทฯ   

จากนั้นจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด 100% ให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์แป้งและประกาศราคาตลาด ตามด้วยกลางน้ำ นำเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นมันเต๋าเพื่อเพิ่มมูลค่า และปลายน้ำคือเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เข้ามารับซื้อมันเต๋าถึงโรงงานผลิต 

โดยกฤช ตั้งเป้าที่จะสร้างผลผลิตมันเต๋าภายใต้กลุ่ม Contract Farming และพันธมิตรที่มีความพร้อมด้านกำลังเงินจะมาร่วมลงทุนเพิ่มในอนาคต ให้อยู่ที่ราว 20,000 ตัน/เดือน (ตามยอดสั่งซื้อที่ลูกค้าต้องการในปัจจุบัน) ภายในปีนี้ 

<<อ่านต่อ>>
cr.Techsauce

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้